Loading...
cover

สกสว. จับมือภาคีเปิดพื้นที่สนทนา ‘ปลดล็อค! เพื่ออากาศสะอาด’ ถกประเด็นงานวิจัยสัญชาติไทย กุญแจสู่มาตรการอากาศสะอาดแก้วิกฤต PM2.5

ภูชีวันท์ 2022.02.07 442

สกสว. จับมือ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกันจัดงาน TSRI Talk กิจกรรมสนทนาออนไลน์ ‘ปลดล็อค! เพื่ออากาศสะอาด’ ระดมสมองนักวิจัย หน่วยบริหารจัดการทุน (สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ) หน่วยงานราชการ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และ ศูนย์อนามัยที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่) บริษัทเอกชน (กลุ่มมิตรผล) ประชาชน (เกษตรกรไร่อ้อยจังหวัดสิงห์บุรี) ภาคประชาสังคม (สภาลมหายใจ จังหวัดเชียงใหม่) และ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ สภาผู้แทนราษฎร ถกประเด็น From Output to Impact ถอดรูปแบบเส้นทางการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พัฒนามาตรการอากาศสะอาดสร้างผลกระทบแก้วิกฤตฝุ่น PM 2.5


เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม TSRI Talk สนทนาออนไลน์ “ปลดล็อค! เพื่ออากาศสะอาด” From Output to Impact : ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมไทยกับการแก้วิกฤตฝุ่น PM2.5 เพื่อเป็นพื้นที่ในการสื่อสาร สนทนา และระดมสมองถอดรูปแบบ     4 ผลงานวิจัยเด่นสัญชาติไทยที่ถูกใช้งานจริงในระดับจังหวัด และสามารถลดการปลดปล่อยมลพิษอากาศและ PM2.5 ปกป้องประชาชนจากการรับสัมผัสฝุ่นพิษ เพื่อเสนอเป็นแนวทางการผลักดันให้งานวิจัยและนวัตกรรมอื่นๆ ของไทย สามารถพัฒนาเป็นมาตรการอากาศสะอาดที่สร้างผลกระทบได้ โดย 4 งานวิจัยเด่นที่ถูกนำมาวิเคราะห์เส้นทางสู่การสร้างผลลัพธ์ผลกระทบประกอบด้วย 

1) DustBoy เครื่องวัดฝุ่น PM2.5 และ PM10 ราคาย่อมเยา (ไม่เกิน 10,000 บาท) ที่มีความแม่นยำกว่า 85% เมื่อเทียบกับเครื่องวัดฝุ่นที่ต้องซื้อมาจากต่างประเทศ (ราคากว่า 1 ล้านบาท) DustBoy ถูกติดตั้งแล้วกว่า 400 จุดทั่วประเทศ ช่วยให้ประชาชนกว่า 300,000 คน ใช้วางแผนหลีกเลี่ยงการรับสัมผัสฝุ่นพิษในชีวิตประจำวัน

2) FireD (ไฟดี) แอปพลิเคชันการจองเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์คาดการณ์การฟุ้งกระจายของฝุ่นจากการเผาล่วงหน้า 3 วันเพื่อการตัดสินใจเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการกำจัดเชื้อเพลิงในพื้นที่ ทำให้คณะทำงานระดับจังหวัดของเชียงใหม่มีข้อมูลในการอนุมัติให้เกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถเผาเศษวัสดุเหลือใช้โดยเกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นน้อยที่สุด ในปี 2564 แอปพลิเคชัน FireD เป็นหนึ่งตัวช่วยที่ลดจุดความร้อนในจังหวัดเชียงใหม่ได้กว่า 60%

3) สิงห์บุรีโมเดล โมเดลนำร่องการใช้ Open Government ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการร่วมกับส่วนราชการและภาคเอกชนจังหวัดสิงห์บุรี เพื่อใช้นวัตกรรมและมาตรการจูงใจทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนที่ร้อยเรียงเป็นห่วงโซ่ของมาตรการในการลดการเผาไร่อ้อย ก่อนตัดส่งเข้าโรงงานน้ำตาลให้ได้ 90% อันเป็นการลดการปลดปล่อย PM2.5 และ มลพิษอากาศที่แหล่งกำเนิด

4) นวัตกรรมรถตัดอ้อย ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล สิงห์บุรี ที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถใช้ตัดอ้อยสดในไร่ของตัวเอง และยังรับตัดอ้อยของเพื่อนเกษตรกรในพื้นที่โดยไม่ต้องเผา ทำให้ขายอ้อยได้ราคาดี และมีค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวลดลงกว่า 50% เมื่อเทียบกับการเผาและเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคน นวัตกรรมนี้นำมาใช้งานจริงและช่วยลดการปลดปล่อย PM2.5 จากการเผาเพื่อเก็บเกี่ยวอ้อยในพื้นที่มาแล้วกว่า 4 ปี


โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึง “บทบาทของ สกสว. กับ วิกฤตมลพิษอากาศ PM2.5 ว่า ระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา 7 จังหวัดของประเทศมีค่าความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยรายวันเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยระหว่าง 25-50% ของเวลาใน 1 ปี อย่างในปี พ.ศ. 2563 มีจำนวนวันที่ค่าฝุ่นเกินค่าที่ยอมรับได้ 112 วันต่อปี  ในปี พ.ศ. 2564 กรุงเทพฯ ถูกจัดอันดับเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก่อนหน้านี้เวลาเราพูดถึงการแก้ปัญหาฝุ่นละออง เราอาจใช้วิธีการสังเกต การมองท้องฟ้า แต่ปัจจุบันองค์ความรู้ ทำให้เกิดนวัตกรรมและเครื่องมือวัดค่าฝุ่น ซึ่งเราล้วนทราบกันดีว่า ปัญหาฝุ่นเกินค่ามาตรฐานเกิดจากสภาพแวดล้อม  ซึ่งมีมนุษย์เป็นผู้สร้าง ทั้งแหล่งกำเนิดมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม การคมนาคม (จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีรถยนต์มาตรฐานต่ำที่ผลิตควันดำกว่า 10 ล้านคัน) รวมฝุ่นที่เกิดจากการเผาของภาคเกษตร ฝุ่นควันที่เกิดขึ้นล้วนแล้วเกิดจากกระบวนการผลิตและการบริโภคของมนุษย์ทั้งสิ้น ดังนั้นเวลาแก้ปัญหาจึงควรมองกลับไปทั้งระบบ ทั้งพฤติกรรมการผลิตและการบริโภค การพูดคุยกันในวันนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ภาคนโยบาย ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ตลอดจนสื่อมวลชน จะได้บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาอากาศของประเทศไทย ในส่วนของ สกสว. เล็งเห็นว่า เครื่องมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ทั้งการจัดทำแผนวิจัย การจัดสรรงบประมาณ ตลอดจนการมีระบบติดตามผลและการทำงานร่วมกันกับหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม หรือพีเอ็มยู โดยเฉพาะสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการบริหารจัดการงานวิจัยทางด้านฝุ่น เพื่อหนุนเสริมการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน


ด้าน  ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) คณะอนุกรรมาธิการสภาฯ ด้านแก้ไขปัญหา PM 2.5 ฉายภาพว่า  หากเราไปทบทวนดูมาตรการของประเทศอื่นๆ อย่างสหรัฐอเมริกา จะพบว่าประเทศเหล่านั้นประสบความสำเร็จในการสร้างอากาศดีให้ประชาชนก็ด้วยมีมาตรการอากาศสะอาดขึ้นมา เพื่อเป็นกฎระเบียบในการรักษาสภาพอากาศของประเทศ โดยกว่าที่มาตรการนี้จะคลอดออกมานั้นก็ต้องใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมมาเป็นสิ่งหนุนเสริม เพื่อให้มาตรการนี้ปกป้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยมีองค์ความรู้ด้านการวิจัยการแก้ปัญหานี้อย่างมากมาย แต่ยังไม่ถูกนำไปพัฒนาเป็นมาตรการต่างๆ อย่างจริงจัง ดังนั้นจึงมองว่าข้อเสนอแนะการเพิ่มศักยภาพของงานวิจัยและนวัตกรรมไทยเพื่อการแก้ไขปัญหา PM2.5 และ มลพิษอากาศ มี 4 ประเด็นสำคัญ คือ

1. มาตรการสำหรับกฎหมายอากาศสะอาดของประเทศไทยเป็นหัวใจของความสำเร็จ ลำพังการมีกฎหมายอากาศสะอาดอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องมีมาตรการที่ดีมีประสิทธิภาพและอิงวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมด้วย

2. งานวิจัยควรเน้นการสนับสนุนการออกแบบมาตรการ การวิเคราะห์ประสิทธิภาพ การติดตามประเมินผลของมาตรการในการบรรลุเป้าหมายของอากาศสะอาด

3. การเชื่อมโยงงานวิจัยกับมาตรการในกฎหมายอากาศสะอาดที่จะมีในอนาคต จะทำให้ผลผลิตงานวิจัย (Output) นำไปสู่ผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการทางกฎหมายดังกล่าว และต้องการงานวิจัยเพื่อช่วยในการดำเนินมาตรการให้ประสบความสำเร็จ

4. OKRs หรือตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของระบบ ววน. ควรมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนเทคโนโลยี นวัตกรรม การบริหารจัดการให้มาตรการในกฎหมายอากาศสะอาดสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ OKRs ในการบรรลุเป้าหมายอากาศสะอาดโดยตรง เนื่องจากการผลักดันเรื่องนี้ ววน. เปรียบเสมือนหน่วยสนับสนุนเครื่องมือการทำงานให้หน่วยงานด่านหน้าต่างๆ ที่สำคัญทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคประชาชนให้สามารถบริโภคได้อย่างยั่งยืน โดยการทำงานทั้งหมดต้องทำงานบนฐานข้อมูล องค์ความรู้ ประเทศไทยต้องเรียนรู้ว่ามาตรการแบบไหนดีที่สุดจากต่างประเทศที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว เอามาใช้แล้วเหมาะสมกับบ้านเรา


ในขณะที่ ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้แทนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากการใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยไปผลักดันให้เกิดกฎหมายแล้ว ควรมีกลไกเชื่อมต่อการใช้ประโยชน์  การนำเอามาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐมีอยู่แล้วตอนนี้ แต่ยังขาดการนำไปใช้ (Implementation)  การติดตามประเมินผลมาตรการ (Monitoring) ที่เพียงพอก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน


ส่วนทางด้าน นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า กฎหมายอาจไม่สำคัญเท่ามาตรการและการปฏิบัติจริง ถ้าแต่ละฝ่ายเห็นพ้องร่วมกัน และรู้ว่ามีบทบาทการทำงานในส่วนใดเพื่อแก้ปัญหาก็จะส่งผลสำเร็จมากขึ้น นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่สามารถช่วยเป็นแรงกระตุ้นในสังคมได้ คือ การแจ้งเตือน KPI ตัวเลขที่ชัดเจนว่า หลังจากมีการนำงานวิจัยเชิงนวัตกรรมและงานวิจัยเชิงนโยบายไปปฏิบัติจริง คุณภาพอากาศดีขึ้นเพียงใด ค่าฝุ่นลดลงแล้วมากน้อยเพียงใด มีปริมาณผู้ป่วยโรคทางดินหายใจลดลงเท่าไร  สื่อสารให้ประชาชนได้ทราบว่า สิ่งเหล่านี้มันคือเรื่องเชื่อมโยงที่ใกล้ตัวเขา จะทำให้สังคมมีการตระหนักรู้มากขึ้น ทั้งนี้ข้อมูลการถกประเด็นวันนี้ถือเป็นสารตั้งต้นสำคัญ ที่ทั้ง สกสว. และทุกภาคส่วน จะใช้ในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา PM2.5 และผลักดันให้เกิดมาตรการสะอาดขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม และมีการดำเนินการใช้จริงอย่างมีศักยภาพต่อไป