Loading...
cover

เมื่อยักษ์ขยับ: จีนกับมาตรการแก้ปัญหาขยะพลาสติกด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน

admin 2022.01.14 359

สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศที่ได้ฉายาว่า “โรงงานของโลก” ด้วยฐานการผลิตและการส่งออกสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นประเทศที่มีประชากรถึง 1.4 พันล้านคนซึ่งมากที่สุดในโลก โดยราว 60% หรือกว่า 800 ล้านคนอาศัยอยู่ในเขตเมือง จึงไม่น่าแปลกใจที่จีนจะเป็นประเทศที่ผลิตและบริโภคพลาสติกมากที่สุดในโลก และถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่สร้างขยะทะเลมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งแบบไม่มีใครเทียบได้อีกด้วย

แต่น่าสนใจว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จีนได้ทำการปฏิรูปกฎหมายและปรับปรุงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะพลาสติกและเศรษฐกิจหมุนเวียนหลายฉบับ โดยเฉพาะการสั่งห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศอย่างเด็ดขาดด้วยนโยบายการลงดาบ (China Sword Policy 2018) มาตรการห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้งหลายประเภท และมาตรการบังคับให้มีการคัดแยกขยะในระดับครัวเรือน รวมไปความพยายามสร้างเมืองที่ปลอดขยะ (zero waste cities) โดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยติดตามเพื่อให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง นับเป็นบทเรียนที่น่าศึกษาและนำมาปรับใช้กับการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยได้

ถังขยะของโลก

ก่อนหน้าที่จีนจะห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศตั้งแต่ 1 มกราคม ค.ศ. 2018 จีนเป็นประเทศที่มีการนำเข้าขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก โดยมีขยะนำเข้าสะสมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 ถึง 106 ล้านตัน หรือราว 45.1% ของปริมาณขยะนำเข้าสะสมทั่วโลก เรือขนส่งสินค้าที่นำเอาสินค้าอุปโภคบริโภคจากจีนไปขายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก มักจะเดินทางกลับมาพร้อมกับขยะรีไซเคิลปริมาณมหาศาลจากประเทศพัฒนา ระบบรีไซเคิลในประเทศจีนดำรงอยู่ได้ด้วยแรงงานราคาถูก พร้อมกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นที่ถูกละเลยในอดีต

ปริมาณการบริโภคพลาสติกต่อหัวภายในประเทศของจีนเองก็เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าภายในเวลา 10 ปี จาก 22 กิโลกรัมในปี ค.ศ. 2005 เป็น 45.1 กิโลกรัมในปี ค.ศ. 2015 และมากกว่า 60 กิโลกรัมในปี ค.ศ. 2020 ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็มีการผลิตสินค้าจากพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 23 ล้านตันในปี ค.ศ. 2005 เพิ่มเป็น 58.36 ล้านตัน ในปี ค.ศ. 2012 และ 75.31 ล้านตันในปี ค.ศ. 2019 ปัจจุบันจีนผลิตพลาสติกออกมาเฉลี่ยกว่า 100 ล้านตันต่อปีหรือราว 1 ใน 3 ของพลาสติกที่มีการผลิตออกมาทั้งหมดทั่วโลก


การเติบโตของตลาดค้าขายออนไลน์ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพและเครื่องสำอางต่างส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติก มีการประเมินว่าในปี 2016 มีการผลิตบรรจุภัณฑ์ออกมากว่า 6 แสนล้านชิ้น เฉพาะการซื้อขายออนไลน์มีการใช้บรรจุภัณฑ์กว่า 4 หมื่นล้านชิ้นในปี ค.ศ. 2017 เทียบเท่ากับปริมาณขยะราว 8 ล้านตัน โดยคิดเป็นกล่องกระดาษราว 44% และถุงพลาสติกราว 34% กล่องกระดาษที่ใช้ในการขนส่งมีอัตราการรีไซเคิลราว 8% ในขณะที่บรรจุภัณฑ์พลาสติกมีอัตราการรีไซเคิลต่ำมาก ส่วนใหญ่ถูกจัดการด้วยการนำไปเผาหรือฝังกลบ

ในภาพรวมประเทศจีนมีการสร้างขยะมูลฝอยขึ้นมากถึงปีละ 242 ล้านตันจากข้อมูลในปี ค.ศ. 2019 มีการประเมินว่า 11% คือขยะพลาสติกหรือราว 26.6 ล้านตัน โดยมีอัตราการรีไซเคิลโดยประมาณอยู่ที่ 25% หมายความว่ามีขยะพลาสติกถูกทิ้งในสิ่งแวดล้อมมากถึงเกือบ 20 ล้านตันต่อปี

ปัญหาใหญ่ของการจัดการขยะมูลฝอยในประเทศจีนคือระบบความสามารถในการจัดเก็บที่ยังไม่เพียงพอ ยกเว้นเฉพาะในเมืองขนาดใหญ่ ทำให้ขยะจำนวนมหาศาลไม่ได้ถูกจัดเก็บ หรือมีการหลุดรอดระหว่างการจัดเก็บและปลายทางสูงถึง 10% การกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบยังเป็นวิธีการหลักในการจัดการขยะมูลฝอย โดยมีหลุมฝังกลบที่ถูกกฎหมายกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ หลุมฝังกลบจำนวนมากตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งหรือทางน้ำ ทำให้ขยะจำนวนมากมีโอกาสหลุดรอดออกสู่มหาสมุทรได้ง่าย

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาประเทศจีนมีการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากขยะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ด้วยเหตุผลว่าสามารถกำจัดขยะได้ในปริมาณมากและได้ไฟฟ้ากลับคืนในกระบวนการ รัฐบาลกลางจึงมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (waste to energy) ทั้งการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ระบบประกันรับซื้อพลังงานไฟฟ้า มาตรการยกเว้นภาษี ทำให้อัตราส่วนของขยะที่ได้รับการกำจัดด้วยวิธีนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 19.8% ในปี ค.ศ. 2011 เพิ่มเป็น 33.9% ในปี ค.ศ. 2015 และคาดว่าจะสูงถึง 50% ภายในปี ค.ศ. 2020 และมีจำนวนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะถึง 400 แห่งทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายหลายอย่างเกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน ตั้งแต่งบประมาณที่ค่อนข้างสูงในการลงทุน อายุการใช้งานที่อาจจะไม่คุ้มค่า มลภาวะทางอากาศที่เกิดขึ้นจากการเผา และการประท้วงของประชาชนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากการเผาขยะ


พัฒนาการแบบก้าวกระโดด

จีนมีพัฒนาการจัดการและคัดแยกขยะที่รวดเร็วและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เริ่มจากการสร้างหลุมฝังกลบขยะหลุมแรกของประเทศในปี ค.ศ. 1985 และมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการเก็บขยะตามมา แต่จนกระทั่งปี ค.ศ. 2000 ก็ยังไม่มีระบบการคัดแยกขยะใดๆ ระหว่างปี ค.ศ. 2011-17 เริ่มมีระบบการแยกขยะแบบสมัครใจเกิดขึ้นตามเมืองขนาดใหญ่ และในปี ค.ศ. 2017 มีการประกาศบังคับให้เมืองขนาดใหญ่ที่สุดของจีน 46 เมืองพัฒนาระบบคัดแยกขยะและนำมาปฏิบัติให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2020

ปี ค.ศ. 2018 เริ่มมีการทดสอบระบบคัดแยกและรีไซเคิลที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ปี ค.ศ. 2019 นครเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองแรกที่ประกาศระเบียบใหม่ที่บังคับให้ทุกครัวเรือนต้องแยกขยะอย่างถูกต้องได้แก่ ขยะเศษอาหาร/อินทรีย์ ขยะรีไซเคิล และขยะพิษอันตราย ผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับสูงสุด 10,000 บาทสำหรับบุคคล และ 125,000 บาทสำหรับผู้ประกอบการขนส่งขยะ รวมทั้งถูกหักคะแนนเครดิตทางสังคม (social credit) และกำหนดให้ขยายระบบคัดแยกขยะไปทุกเมืองในระดับจังหวัดภายในปี ค.ศ. 2025

มาตรการที่เด็ดขาด

นโยบายลงดาบแห่งชาติ ค.ศ. 2018 (National Sword Policy 2018) เป็นนโยบายของรัฐบาลจีนในการควบคุมการนำเข้าขยะรีไซเคิลอย่างเด็ดขาด โดยรัฐบาลจีนได้แจ้งต่อองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization) วันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 2017 ว่าจะห้ามการนำเข้าขยะภายในสิ้นปี และตั้งแต่ 1 มกราคม ค.ศ. 2018 ประเทศจีนก็ห้ามการนำเข้าขยะจากวัสดุต่างๆ 24 ประเภทจากต่างประเทศอย่างเด็ดขาดซึ่งรวมถึงพลาสติกพลาสติกเกรดต่ำเกือบทั้งหมดและเศษกระดาษรวมที่ไม่ได้คัดแยก

การเอาจริงของรัฐบาลจีนส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าพลาสติกของจีนลดลงถึง 99% และทำให้เกิดความปั่นป่วนในระบบการรีไซเคิลของโลกอย่างหนัก รวมทั้งได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของระบบรีไซเคิลในปัจจุบันที่ไม่ได้รวมต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมของประเทศปลายทางอีกด้วย คาดการณ์ว่านโยบายการลงดาบของจีนทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายขยะราว 110 ล้านตันภายในปี ค.ศ. 2030 ขยะจำนวนมากถูกส่งมายังประเทศปลายทางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยแทน


ขับเคลื่อนแผนปฎิบัติการที่วัดผลได้

เมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 2020 คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) และกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมจีน ได้ร่วมกันประกาศแผนปฏิบัติการเพื่อจัดการขยะพลาสติก 2020-25 (Action Plan for Plastic Control (2020-2025) ระยะเวลา 5 ปี โดยมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

(1) เป้าหมายของการจัดการขยะพลาสติกในภาพรวม ได้แก่

  • ภายในปี ค.ศ. 2022 ปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้งจะต้องลดลงอย่างชัดเจน และส่งเสริมให้ใช้สินค้าทดแทนอย่างแพร่หลาย อัตราการรีไซเคิลขยะพลาสติกเพื่อใช้เป็นทรัพยากรหรือพลังงานจะต้องเพิ่มขึ้นในระดับสูง และมีการพัฒนารูปแบบปรับลดการใช้พลาสติก และโลจิสติกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสาขาธุรกิจที่ก่อให้เกิดขยะพลาสติกอย่างหนัก เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจให้บริการไปรษณีย์ด่วน และธุรกิจจัดส่งอาหารออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการลดการใช้พลาสติกเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ทั่วประเทศ
  • ภายในปี ค.ศ. 2025 สร้างระบบบริหารจัดการขั้นพื้นฐานสำหรับการผลิต การหมุนเวียน การบริโภค และการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีทุกฝ่ายเข้าร่วม ได้แก่ ภาครัฐ บริษัท สมาคมธุรกิจ และประชาชนทั่วไป ซึ่งจะมีการยกระดับในการพัฒนาและการใช้สินค้าทดแทน โดยตั้งเป้าให้อัตราการฝังกลบขยะพลาสติกของเมืองใหญ่ในจีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

(2) มาตรการห้าม/จำกัดการผลิต การจำหน่าย และการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก

  • ภายในปี ค.ศ. 2020 ห้ามผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์รับประทานอาหารแบบใช้แล้วทิ้ง กล่องโฟมบรรจุอาหาร ก้านสำลีพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ถุงช้อปปิ้งพลาสติกบางที่มีความหนาน้อยกว่า 0.025 มม. และพลาสติกคลุมดินที่มีความหนาน้อยกว่า 0.01 มม. รวมทั้งห้ามผลิตผลิตภัณฑ์ของใช้ประจำวันที่มีไมโครบีดส์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามนำเข้าขยะพลาสติกทุกประเภท รวมทั้งห้ามนำเข้าขยะทางการแพทย์เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก
  • ภายในปี ค.ศ. 2020 ห้ามใช้ถุงพลาสติกที่ไม่ย่อยสลาย (non-degradable) ที่ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต ร้านจำหน่ายยา ร้านหนังสือ ร้านอาหารและงานนิทรรศการต่าง ๆ ในเมืองที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลจีน (กรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน นครเซี่ยงไฮ้ และนครฉงชิ่ง) เมืองเอกของแต่ละมณฑล/เขตปกครองตนเอง และอีก 5 เมืองใหญ่ในจีน ได้แก่ เมืองเซินเจิ้น เมืองเซี่ยเหมิน เมืองชิงต่าว เมืองต้าเหลียน และเมืองหนิงโป รวมทั้งลดการใช้ถุงพลาสติก non-degradable ในตลาดนัด และครอบคลุมถึงเมืองส่วนใหญ่ในจีนและอำเภอต่างๆ ในชายฝั่งทะเลของจีนภายในปี 2565
  • ภายในปี ค.ศ. 2022 โรงแรมที่มีการจัดลำดับดาว (สูงสุด 5 ดาว) จะไม่มีการจัดชุดผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้งในห้องพัก โดยลูกค้าสามารถซื้อผ่านตู้จำหน่ายหรือโรงแรมให้บริการในลักษณะเติมน้ำยาทำความสะอาดในห้องพัก และภายในปี ค.ศ. 2025 จีนจะขยายการใช้นโยบายดังกล่าวในโรงแรมและธุรกิจ B&B ทั้งหมดในจีน
  • ภายในปี ค.ศ. 2022 จีนจะห้ามใช้ถุงพลาสติกและกระสอบพลาสติกที่ไม่ย่อยสลาย ในจุดรับส่งไปรษณีย์ที่กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง มณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลกวางตุ้ง รวมทั้งลดปริมาณการใช้เทปแบบไม่ย่อยสลาย และจะดำเนินการในจุดรับส่งไปรษณีย์ในทั่วประเทศจีนภายในปี ค.ศ. 2025

(3) ผลักดันการใช้วัสดุทดแทน เช่น

    1) เผยแพร่การใช้ถุงผ้า ถุงกระดาษ และถุงช้อปปิ้งแบบย่อยสลายได้ในสถานที่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ซุปเบอร์มาเก็ต ร้านจำหน่ายยา และร้านหนังสือ เป็นต้น รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนใช้ฟิล์มถนอมอาหารแบบย่อยสลายได้ ตลอดจนเผยแพร่การใช้ถุงชอปปิงที่ได้มาตรฐานในตลาดนัดและเผยแพร่การใช้พลาสติกคลุมดินแบบย่อยสลายได้
    2) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและแพลตฟอร์มให้บริการสั่งอาหารออนไลน์ ควรกำกับดูแลให้ร้านค้าบนแพลตฟอร์มมีการจัดทำแผนงานทดแทนผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้ง และเปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติแผนงานดังกล่าวต่อสาธารณะ
    3) บริษัทในสาขาธุรกิจที่เกี่ยวข้องควรผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ถูกต้องตามมาตรฐานและกฎระเบียบต่างๆ ห้ามเพิ่มส่วนประกอบที่เป็นพิษต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม

(4) ปรับปรุงการรีไซเคิล (recycle) และจัดการขยะพลาสติกให้เป็นไปตามระเบียบ เช่น

    1) เพิ่มการรีไซเคิลขยะพลาสติกในการแยกประเภทขยะ ผลักดันความร่วมมือระหว่างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและแพลตฟอร์มให้บริการสั่งอาหารออนไลน์ หน่วยงานทำความสะอาดภาครัฐ และบริษัทรีไซเคิล จัดวางอุปกรณ์รีไซเคิลขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ไปรษณีย์และกล่องอาหารในพื้นที่สำคัญ และปรับปรุงระบบรีไซเคิลพลาสติกคลุมดินและพลาสติกจากธุรกิจประมงให้สมบูรณ์แบบ
    2) สำหรับขยะพลาสติกที่มีต้นทุนรีไซเคิลสูงจะผลักดันการใช้ประโยชน์ด้านพลังงาน (เช่น นำไปเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า) เพื่อลดปริมาณการฝังกลบขยะพลาสติกให้มากที่สุด
    3) เร่งแก้ไขปัญหาการทิ้งขยะพลาสติกในพื้นที่เชื่อมโยงเขตเมืองและเขตชนบท ริมถนน ตามแม่น้ำและคลองน้ำ เป็นต้น

(5) พัฒนาระบบสนับสนุนงานด้านการจัดการขยะพลาสติก เช่น

    1) ผลักดันการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงและประกาศรายชื่อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ห้าม/จำกัดการผลิต การจำหน่าย และการใช้
    2) จัดทำหลักการแนะนำการออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
    3) ปรับมาตรฐานการควบคุมคุณภาพและการจัดทำเครื่องหมายของพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลและย่อยสลายได้
    4) เพิ่มการลงทุนต่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มการจัดซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานภาครัฐ
    5) เพิ่มการลงโทษการกระทำที่ผิดกฎระเบียบด้านการห้ามผลิต จำหน่าย และใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก
    6) เพิ่มการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้งและแยกประเภทขยะให้ถูกต้อง เป็นต้น

ปฏิรูปการจัดการขยะในเมือง

ในนครเซี่ยงไฮ้ มีการออกมาตรการสร้างแรงจูงใจและกำหนดบทลงโทษเพื่อให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการสร้างและคัดแยกขยะ มีการสร้าง green account สำหรับประชาชนทุกคน ซึ่งเป็นระบบเครดิตที่ผูกกับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะบันทึกปริมาณขยะและประเภทของขยะที่แต่ละคนสร้างขึ้น การแยกประเภทขยะได้ถูกต้องจะทำให้ได้รับเครดิตที่สามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าได้ ในส่วนของบทลงโทษ นครเทศบาลเมืองเซี่ยงไฮ้กำหนดค่าปรับสำหรับบุคคลที่ไม่คัดแยกขยะ หรือทิ้งขยะลงในถังผิดประเภทเป็นค่าปรับสูงสุดถึง 10,000 บาท และสำหรับธุรกิจขนส่งขยะที่ไม่แยกประเภทจะมีค่าปรับสูงสุดถึง 250,000 บาท เพื่อเป็นการให้แน่ใจว่าทุกภาคส่วนปฏิบัติตามระเบียบใหม่อย่างแข็งขัน มีการกำหนดค่าปรับสำหรับธุรกิจและหน่วยงานของรัฐที่ไม่ปฎิบัติตามกฎหมายรีไซเคิลสูงสุดถึงราวๆ 450,000 บาท

กฎหมายป้องกันและควบคุมมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมจากขยะมูลฝอยฉบับปรับปรุง ค.ศ. 2020 (Law on Prevention and Control of Environmental Pollution by Solid Wastes (Solid Waste Law 2020) เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 ผ่านการแก้ไขปรับปรุงมาแล้ว 4 ครั้ง และได้รับการปรับปรุงและรับรองครั้งล่าสุดโดยรัฐสภาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2020 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2020 กฎหมายฉบับนี้มีทั้งหมด 126 มาตรา แบ่งเป็น 9 หมวดหมู่ โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันมลภาวะจากขยะมูลฝอย ส่งเสริมแนวทางการพัฒนาสีเขียว และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน

กฎหมายฉบับนี้ให้น้ำหนักกับการคัดแยกขยะในระดับเทศบาลและการห้ามนำเข้า ทิ้งและกำจัดขยะมูลฝอยและขยะพิษ ในมาตรา 24 ย้ำถึงเป้าหมายของจีนที่ต้องการลดการนำเข้าขยะมูลฝอยให้ลดลงเหลือศูนย์ให้ได้ โดยในกฎหมายฉบับปรับปรุงใหม่ได้เพิ่มความรับผิดชอบทั้งของผู้นำเข้าและผู้ทำการขนส่ง โดยเพิ่มโทษค่าปรับให้สูงขึ้นอย่างมาก และมีความพยายามเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดการขยะมูลฝอย

เศรษฐกิจหมุนเวียนในแผนพัฒนาฯ แห่งชาติ

น่าสนใจที่ประเทศจีนมีกฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 (Circular Economy Promotion Law 2008) โดยจำกัดความเศรษฐกิจหมุนเวียนว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยลดของเสีย ส่งเสริมการรีไซเคิลและฟื้นฟูผลิตภัณฑ์ (มาตรา 2) โดยกำหนดให้ภาคเอกชนต้องพัฒนาระบบการจัดการที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรและสร้างของเสีย เพื่อยกระดับการรีไซเคิลขยะและการนำทรัพยากรกลับมาใช้ได้ใหม่ (มาตรา 9)

นอกจากนี้ ภาคเอกชนต้องรับผิดชอบในการเก็บกู้ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการกำจัดขยะตามข้อกำหนด (มาตรา 15) ภาครัฐมีหน้าที่สนับสนุนให้ประชาชนใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล (มาตรา 10) และก่อสร้างอาคารสำหรับอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บและรีไซเคิลขยะ (มาตรา 41)

รากฐานจากกฎหมายฉบับดังกล่าวได้รับการขยายผลขึ้นอย่างชัดเจนใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับที่ 13 ค.ศ. 2016-2020 และฉบับที่ 14 ค.ศ. 2021-25 (The five-year plan for Economic and Social Development of The People’s Republic of China) ตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ได้กำหนดเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเน้นถึงความสำคัญของกรอบหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) และเสนอให้สร้างความเข้มแข็งให้กับการจัดการขยะมูลฝอยและอุตสาหกรรมการผลิตซ้ำ และตั้งเป้าให้มีการนำขยะมูลฝอยในภาคอุตสาหกรรมกลับมาใช้ซ้ำได้ถึง 73% และมีอัตราการจัดการขยะมูลฝอยในครัวเรือนในชนบทให้ได้ถึง 90%

ในส่วนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 ฉบับปัจจุบันซึ่งครอบคลุมปี ค.ศ. 2021-2025 คณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติ เพิ่งจะเปิดตัวแผนพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ค.ศ. 2021 ซึ่งได้ตั้งเป้าพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านการส่งเสริมการรีไซเคิล การผลิตซ้ำ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพลังงานหมุนเวียน โดยวางเป้าหมายที่วัดผลได้ภายในปี ค.ศ. 2025

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 ยังกำหนดภารกิจสำคัญสำหรับหน่วยงานในระดับภูมิภาค 3 ด้านหลักๆ คือ 1) การพัฒนาระบบรีไซเคิลในระดับอุตสาหกรรมและปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร 2) การพัฒนาระบบรีไซเคิลสำหรับขยะและส่งเสริมสังคมรีไซเคิล และ 3) ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคเกษตรกรรม และการผลิตทางการเกษตรในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

ลงมือแก้ปัญหาด้วยระบบ EPR

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 2020 คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ได้ออกประกาศแผนการดำเนินการระบบ EPR (หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต) สำหรับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่ม ตามโครงการนำร่องที่ดำเนินการโดยเครือข่ายนวัตกรรมเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมรีไซเคิล (ATCCR) ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2018 แผนดังกล่าวกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้ากล่องบรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่มต้องมีระบบ EPR หรือรับผิดชอบในการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว โดยส่งเสริมและให้คำแนะนำให้ผู้บรรจุ ร้านค้าปลีก ธุรกิจรีไซเคิล และผู้บริโภค เข้าร่วมโครงการในการนำบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้กลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล โดยมีเป้าหมายให้ลดการใช้วัตถุดิบใหม่ลงให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2025

ภายใต้แผนดำเนินการดังกล่าว ผู้ผลิตและผู้ส่งออกบรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่มจะมีความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นดังนี้

  1. การออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (น้ำหนักเบา สามารถรีไซเคิลได้ง่าย) รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้บรรจุสินค้าคำนึงถึงการออกแบบด้วยเช่นกัน รวมทั้งปรับปรุงระบบการคัดแยก และต้องเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนดในกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
  2. การรีไซเคิล อาจดำเนินการโดยองค์กรภายนอก แต่กฎหมายส่งเสริมให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้ารวมกลุ่มกันพัฒนาระบบรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน ซึ่งดำเนินการร่วมกับผู้บรรจุ ผู้จัดจำหน่าย และธุรกิจรีไซเคิล ในเครือข่ายที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งสนับสนุนทางด้านการเงินให้กับระบบที่ยังขาดแคลน
  3. สำหรับผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่มียอดขายมากกว่า 1 พันล้านกล่องจะต้องจัดทำรายงานผลประจำปี

คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนรับผิดชอบในการออกแบบและประสานงานระบบ EPR ในขณะที่กระทรวงการเคหะและการพัฒนาชนบทและชุมชนเมือง จะให้คำแนะนำการคัดแยก ส่วนกระทรวงพาณิชย์ และกรมการตลาด จะแนะนำเรื่องการรีไซเคิล และมอบหมายให้รัฐบาลท้องถิ่น

  1. เสริมสร้างความเข้มแข็งในการคัดแยกขยะ
  2. กำหนดให้บรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษเครื่องดื่มเป็นบรรจุภัณฑ์ประเภทรีไซเคิลได้
  3. สนับสนุนความร่วมมือระหว่างผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ผู้รีไซเคิลและระบบการจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาล
  4. แนะนำผู้บริโภคให้ลดขยะที่แหล่งกำเนิด และคัดแยกขยะ

ส่วนภาคอุตสาหกรรมต้องมีการควบคุมธุรกิจด้วยการสร้างมาตรฐานในการเก็บข้อมูลและรายงานข้อมูล วิเคราะห์และประเมินระบบ EPR พร้อมกับรายงานให้รัฐบาลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง รวมทั้งประชาสัมพันธ์การดำเนินการ EPR ที่ประสบความสำเร็จ

สรุป

ประเทศจีนนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความท้าทายในการจัดการขยะมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะบรรจุภัณฑ์ ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณสูงถึงปีละ 45 ล้านตันภายในปี ค.ศ. 2025 แต่จีนก็นับว่ามีความก้าวหน้าในด้านนโยบายต่างๆ อย่างเห็นได้ชัดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การแบนการนำเข้าขยะและเศษพลาสติกอย่างเด็ดขาดตามนโยบาย National Sword Policy 2018 นโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีเป้าหมายค่อนข้างชัดเจนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับล่าสุด (ค.ศ. 2021-2025) รวมไปถึง แผนปฏิบัติการเพื่อจัดการขยะพลาสติก ค.ศ. 2020-2025 และกฎหมายป้องกันและควบคุมมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมจากขยะมูลฝอยฉบับปรับปรุงล่าสุด ค.ศ. 2020 การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง การกำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจทางการเงิน รวมทั้งการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยพัฒนาระบบแยกขยะในเมืองนับเป็นตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนในเมืองที่น่าสนใจ และช่วยให้มีการติดตามข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างครบวงจร

หมายเหตุ: *บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยภายใต้โครงการศึกษาทางเลือกเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)