Loading...
cover

เศรษฐกิจหมุนเวียน โอกาสใหม่ของธุรกิจ ที่สามารถพลิกมาใช้ในชีวิตประจำวัน

admin 2022.01.14 288

เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ อาจฟังดูเป็นเรื่องที่ชวนขมวดคิ้วสำหรับใครหลายคน เพราะรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก.แต่ความจริงแล้วถ้าได้ลองเข้ามาเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจหมุนเวียนจริงๆ ก็จะรู้ได้เลยว่า เรื่องเศรษฐกิจที่เคยฟังดูยากนี้เป็นอะไรที่ใกล้ตัวและเข้าใจง่ายกว่าที่คิด

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หากพูดกันแบบง่าย ๆ ก็คือ แนวคิดที่สนับสนุนให้เราใช้สิ่งของหรือทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด มีการวางแผนให้สิ่งของที่เราใช้สามารถคืนสู่สภาพเดิมหรือพร้อมนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมทั้งออกแบบรูปแบบการใช้สิ่งของ เช่น จากการซื้ออาจเปลี่ยนเป็นการเช่า เป็นต้น

ถือเป็นแนวทางลดการใช้ทรัพยากรใหม่ เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรในอนาคต รวมถึงปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นได้จากวัสดุเหลือทิ้ง

แนวคิดนี้ยังสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และอีกมุมหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้ คือแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนยังเป็นโอกาสสำหรับการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะจากการพัฒนาธุรกิจใหม่และปรับธุรกิจเดิมที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การหมุนเวียนของวัสดุ และสร้างมูลค่าจากการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่นี้ด้วย

อย่างไรก็ตามแนวโน้มของโลกมีการออกนโยบาย มาตรการ และกฎระเบียบที่จะประกาศใช้ อาทิ EU Green Deal จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในทางธุรกิจการค้ากับประเทศคู่ค้าที่มีการปรับตัวเชิงนโยบายด้วยเช่นกัน

ตอนนี้ภาคธุรกิจ อย่างน้อยก็ในบ้านเรา ส่วนใหญ่เป็นแบบเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) หรือแนวคิดดั้งเดิม ที่เรียกได้ว่าตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจหมุนเวียนแทบจะทุกอย่าง

แนวคิดนี้จะไม่มีการคำนึงถึงการนำเอาทรัพยากร วัสดุ หรืออะไรก็ตามในระบบการผลิตหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ พอผลิตเสร็จก็ส่งต่อถึงมือผู้บริโภคใช้ และจบด้วยการทิ้งหรือทำลาย ด้วยระบบกำจัด ทั้งที่ของเสียหรือวัสดุเหลือใช้เหล่านี้มีศักยภาพในการใช้ผลิตใหม่หรือเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของการผลิตอื่น และจุดนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหา

อย่างแรกคือทรัพยากรที่ค่อย ๆ หมดไป ตามด้วยจำนวนขยะที่เพิ่มขึ้น อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงขึ้น คือจำนวนประชากรโลกที่กำลังเพิ่มสู่ 9 พันล้านคนภายในปี 2573 ตามข้อมูลจากสมุดปกขาว ‘การพัฒนาระบบเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน’ ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและการบริโภคของคน ทำให้ทรัพยากรที่ตอนนี้มีจำกัดอยู่แล้ว ยิ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งสภาวะโลกร้อน ทรัพยากรขาดแคลน และขยะล้นโลก โดยเฉพาะขยะพลาสติกในทะเล ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลง นำมาสู่แนวคิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกุญแจดอกสำคัญสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่โลกที่ยั่งยืนขึ้น

มาดูตัวอย่างของธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียนกัน

ในปัจจุบัน มีธุรกิจที่เริ่มเห็นถึงความสำคัญและนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ให้เข้ากับระบบและสินค้าของตัวธุรกิจนั้น ๆ โดยบทความนี้จะขอยกตัวอย่างธุรกิจมาทั้งหมด 4 ตัวอย่างด้วยกัน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนและการปรับใช้ในธุรกิจมากยิ่งขึ้น

โคคา-โคล่า หรือที่เรียกกันติดปากว่า โค้ก มีแนวคิดในการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้แล้วกลับมารีไซเคิล ในปริมาณที่เท่ากับที่จำหน่ายออกสู่ตลาดให้ได้ 100% ก่อนปี 2573 โดยมีบริษัทสตาร์ทอัพอย่าง GEPP ที่เป็นแพลตฟอร์มการเก็บขยะแบบใหม่ มีหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างร้านค้าที่มีขยะรีไซเคิลกับทางผู้ซื้อ นอกจากนี้ยังมีแคมเปญที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากร พร้อมยังส่งเสริมให้เกิดโอกาสของธุรกิจใหม่อีกด้วย

Renault หนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศส มีการดีไซน์รถยนต์รุ่นใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นหนึ่งในวัสดุการผลิตถึงห้าส่วนด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีการนำวัสดุหลักอย่างทองแดง อะลูมิเนียม และผ้ากลับมาใช้ซ้ำอีกด้วย อีกทั้งทางแบรนด์ยังได้จัดตั้งบริษัทย่อยขึ้น เพื่อดูแลและควบคุมการหมุนเวียนของวัสดุ พร้อมทั้งการจัดการขยะและร่วมมือกับบริษัททำลายรถยนต์เก่ากว่า 300 บริษัทในการเก็บวัสดุที่ยังคงมีประโยชน์อยู่จากรถเก่าที่ถูกทิ้งในแต่ละปีและนำไปใช้ต่อเป็นชิ้นส่วน เช่น กระจกหน้าและข้าง ชิ้นส่วนตัวถัง เครื่องยนต์ เกียร์และระบบหัวฉีดที่ถูกปรับแต่งให้กลับมาใช้ได้เหมือนเดิม

ในวงการแฟชั่นเองก็มีหลาย ๆ แบรนด์ที่เริ่มจะนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ ตัวอย่างเช่น Levi แบรนด์เสื้อผ้ายีนส์ ที่หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นหูกันอยู่แล้ว ก็สนับสนุนให้ลูกค้า ใช้สินค้าที่ซื้อไปให้ได้นานที่สุด หรือหากมีชุดที่ไม่ต้องการหรือใส่จนเบื่อแล้ว ก็สามารถนำมาหย่อนลงกล่องหน้าร้านได้ สำหรับนำกลับมาใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น หรือให้ทางบริษัทพันธมิตรของแบรนด์นำมารีไซเคิลใหม่ แล้วทำเป็นฉนวนในงานก่อสร้างหรือเป็นวัสดุกันกระแทกเพิ่มเติม แล้วยังมีอีกหนึ่งแคมเปญที่น่าจะถูกใจขาช้อป คือการแนะนำให้ลูกค้านำยีนส์ตัวเก่าที่ไม่ได้ใส่แล้วมาแลกเป็นบัตรของขวัญ ซึ่งเสื้อผ้าที่ได้รับมาจะถูกนำไปทำความสะอาด ก่อนจะวางขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่อไป

แบรนด์ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผ้าของไทยอย่าง Moreloop เองก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เรียกได้ว่า มุ่งมั่นที่จะทำตามแนวคิดแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยแบรนด์นี้ได้สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นมา เพื่อเอาผ้าที่เหลือจากโรงงานต่าง ๆ ที่ปกติจะถูกทิ้งและไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์มาขายต่อให้ลูกค้า ซึ่งรูปแบบนี้เป็นการแก้ปัญหาผ้าเหลือจากการผลิตที่ได้ประโยชน์ทั้งทางโรงงานที่ต้องการทิ้งผ้า และตัวลูกค้าที่เป็นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ผู้ที่ต้องการผ้าดี ๆ แต่ก็ไม่อยากได้ผ้าในปริมาณมาก รวมถึงบริษัทยังรับผลิตเสื้อผ้า กระเป๋าผ้า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าเหลือใช้เหล่านี้ ซึ่งถือว่าเป็นการอัปไซเคิลหรือการเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าเหลือใช้ในตัวเลยทีเดียว

สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลยสำหรับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่จะช่วยเติมเต็มให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น คือ เริ่มตั้งแต่การคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการใช้งานและการบริหารจัดการหลังสิ้นอายุผลิตภัณฑ์

รวมถึงการออกแบบโมเดลทางธุรกิจแบบใหม่ ที่ความคิดหรือไอเดียต่าง ๆ จะต้องมองให้ครอบคลุมถึงการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ให้เป็นวงจรแบบปิด หรือ Close Loop ที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรได้มากกว่า และต้องให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วย

เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในวงการธุรกิจเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเองได้อีกด้วย หรือที่เรียกกันว่าการใช้ชีวิตแบบ Circular Living ซึ่งแนวคิดคือ “ปรับเปลี่ยนวิธีใช้ สร้างความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมไปมากกว่าเดิม” เป็นการสร้างจิตสำนึกและปลูกฝังความคิดของคนที่อยากจะรักษาสิ่งแวดล้อม อาจจะเริ่มจากอะไรใกล้ตัวง่าย ๆ ทำได้ที่บ้าน อย่างการแยกทิ้งขยะให้ถูกต้อง และนำไปส่งให้กับโครงการต่างๆ ที่วางกล่องรับขยะบางประเภท อาทิ กล่องนม ขวดพลาสติก ตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งนำไปสู่การเป็นวัตถุดิบรอบสอง (Secondary Material) ในการผลิตเพื่อลดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ (Virgin Material) การใช้แก้วน้ำส่วนตัวเวลาไปซื้อเครื่องดื่มเพื่อลดจำนวนแก้วพลาสติกเหลือทิ้ง หรือพยายามใช้ของที่มีอยู่เดิมให้คุ้มค่าที่สุด

ถึงแม้พฤติกรรมการใช้ชีวิตเหล่านี้จะดูเป็นอะไรที่เล็กน้อยมาก แต่หากพวกเราทุกคนร่วมกันลงมือทำ สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ก็สามารถเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดสังคมแห่งเศรษฐกิจหมุนเวียน สังคมแห่งความยั่งยืนที่จะช่วยทำให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้นได้

ขอบคุณข้อมูลจาก

สมุดปกขาวการพัฒนาระบบเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน จัดทำโดย สอวช.

https://www.scg.com/…/circular-economy/scg-circular-way/

https://www.scg.com/…/industries-that-are-making-a…/

https://www.marketingoops.com/…/coke-central-group…/

https://positioningmag.com/1300473

https://www.npc-se.co.th/detailknowledgebase-462-

https://thestandard.co/circular-living/

https://adaymagazine.com/moreloop-circular-economy