Loading...
cover

สอวช. เผยนโยบายและแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เน้นย้ำทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยนโยบายทุกกระทรวง กำหนดเป้าหมายร่วม เพื่อการดำเนินงานที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

admin 2022.01.14 313

(11 สิงหาคม 2564) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดงานเสวนา “แนวทางขับเคลื่อนการจัดการขยะอย่างยั่งยืนมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน” ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมทั้งในกลุ่มภาครัฐ ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ภาคเอกชน นักวิชาการ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม รวมกว่า 245 ท่าน


ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้เปิดงานด้วยการกล่าวถึงความสำคัญของ บีซีจี โมเดล ซึ่งถูกยกขึ้นเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ และ สอวช. ได้ยกเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นระเบียบวาระทางนโยบายที่สำคัญ มีการดำเนินงาน CE Innovation Policy Forum นำเอานวัตกรรมเข้ามาบริหารจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการช่วยลดการใช้ทรัพยากร สำหรับโมเดลสำคัญที่จะมาช่วยเรื่องการบริหารจัดการขยะบรรจุภัณฑ์นั้น มีหลักการ “ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต” (Extended Producer Responsibility: EPR) ที่ สอวช. ร่วมงานกับหลายหน่วยงาน และเริ่มดำเนินการไปแล้วในหลายมิติ ทั้งการสร้างความตระหนักของภาคส่วนต่างๆ ทั้งมหาวิทยาลัย โรงเรียน แต่ในขณะเดียวกันบทบาทของภาคการผลิตและบริการ ก็มีส่วนที่สำคัญมากในการช่วยจัดการเรื่องนี้


“สอวช. ได้ร่วมกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand) จัดโครงการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบหมุนเวียน หรือ Circular Design เพื่อถ่ายทอดแนวทางการออกแบบ การจัดการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนไปสู่ผู้ผลิตโดยตรง เป็นการสร้างความเข้าใจ สร้างความตระหนักให้มองเห็นว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ใช่การสร้างภาระ แต่สามารถสร้างโอกาส สร้างธุรกิจใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นได้ และหากมองตั้งแต่การผลิตต้นน้ำไปจนตลอดห่วงโซ่คุณค่าก็จะพบว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนยังช่วยสร้างกำไรได้อีกด้วย ในส่วนของ EPR หลายประเทศยกระดับขึ้นไปเป็นกฎหมาย เช่น จีน สิงคโปร์ ที่ให้มีการลงทะเบียนขวดพลาสติก ที่สามารถตรวจสอบจำนวนการผลิต และติดตามผลหลังการบริโภคได้ ขณะที่ในประเทศไทยอยู่ในช่วงของการรณรงค์ให้เกิดการดำเนินการในด้านนี้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทเอกชนหลายบริษัทได้เริ่มต้นทำเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการนำนวัตกรรมหลายส่วนเข้าไปช่วย ขณะเดียวกันหน่วยงานให้ทุนภายใต้การกำกับดูแลของ สอวช. อย่างหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ก็ได้มีการให้ทุนไปทำเรื่องนวัตกรรม สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน” ดร. กิติพงค์ กล่าว

ในด้านนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ บีซีจี และการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า บีซีจี เป็นแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจที่ใช้จุดแข็งของไทยในเรื่องการมีฐานชีวภาพ วัฒนธรรมที่หลากหลาย ผสานกับแนวคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ต้องดูเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในส่วนการขับเคลื่อนเน้นให้มีความครอบคลุม โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มที่สำคัญ ได้แก่ เกษตรและอาหาร, พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ, สุขภาพและการแพทย์, ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในส่วนกลไกการบริหาร ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใน 3 ระดับ คือ คณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจบีซีจี คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจี และคณะอนุกรรมการเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจบีซีจี

สำหรับกรอบการพัฒนา CE Innovation Strategy แผนระยะ 10 ปี ในปี 2030 ได้มองเป้าหมาย 3 เรื่องใหญ่ คือการลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 4 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการสร้างมูลค่าจากเศรษฐกิจหมุนเวียน 1-3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี จากเป้าหมายที่ตั้งไว้สามารถมองการขับเคลื่อนได้ใน 2 ส่วน คือการแก้ปัญหาเดิม จะมองในเรื่องการแลกเปลี่ยนของเสีย/วัสดุเหลือใช้ซึ่งกันและกัน การขนส่งสินค้าคืนสู่ผู้ขายและรีไซเคิล การหมุนเวียนอาหารถูกทิ้ง รวมถึงด้านการก่อสร้าง ที่จะออกมาเป็นโครงการนำร่องและมีการผลักดันการขับเคลื่อนร่วมกัน อีกส่วนหนึ่งคือการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จะมองในเรื่องการสร้าง Solution Platform เป็นแพลตฟอร์มที่จะช่วยทั้งในเรื่องทางเทคนิค การทำ Match Making, Circular Design รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดผู้ให้บริการทางด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนปัจจัยเอื้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือ กลไกส่งเสริมด้านการตลาด กฎหมาย กฎระเบียบ ที่จะต้องมีการผลักดันร่วมกันต่อไปด้วย

สำหรับแนวคิดการขับเคลื่อน CE Innovation Strategy 2030 จะแบ่งระยะการดำเนินงานและ Milestones ออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกในปี 2565-2567 เน้นการสร้าง Innovation Platform สร้างพื้นที่ให้คนที่มีความสนใจในเรื่องนี้มาทำงานร่วมกัน รวมถึงการใช้กลไกของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว). เข้าไปทำโปรแกรมปักหมุด โครงการนำร่อง ที่จะทำให้การทำงานในส่วนต่างๆ ขยายผลได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็เน้นวางรากฐานการศึกษาในเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบ ที่จะช่วยขับเคลื่อนในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ในช่วงที่สอง ปี 2568-2570 ระบบนิเวศ ปัจจัยเอื้อต่างๆ จะต้องเริ่มมีความพร้อมมากพอที่จะให้ผู้ให้บริการเศรษฐกิจหมุนเวียนสามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว เช่น การผลักดันเรื่องการทำไกด์ไลน์ การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงเรื่องมาตรฐานและระบบติดตามประเมินผล ในช่วงที่สาม ปี 2571-2573 เมื่อผู้ประกอบการมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจแล้ว จะเน้นเรื่องของการส่งเสริมให้มีการขยายตลาดไปในระดับภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการส่งเสริมการออกมาตรฐานต่างๆ การเชื่อมโยงไปกับห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ในระดับภูมิภาคไปถึงในระดับโลก

ในส่วนบทบาทของกระทรวง อว. ยังมีกลไกเรื่องการให้ทุนของ บพข. ที่มีโปรแกรมสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ โครงการนำร่องที่ทำให้เกิดความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่าเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Champion), การสนับสนุนการทำวิจัยของธุรกิจแพลตฟอร์ม (CE Platform), การวิจัยเกี่ยวกับวัตถุดิบรอบสองเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับอุตสาหกรรม (CE RDI) นอกจากนี้ สอวช. ยังได้เริ่มขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับพันธมิตร คือ โปรแกรม CIRCO ของประเทศเนเธอแลนด์ เพื่อให้บริษัทที่เข้าร่วมได้รับ blueprint/roadmap ในการที่จะปรับรูปแบบธุรกิจไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน อีกส่วนหนึ่งคือโครงการ CE Innovation Policy Forum ที่เป็นเวทีให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในกลุ่มต่างๆ ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชื่อมโยงกับการจัดทำนโยบาย การหาเป้าหมาย หากลไกการจะขับเคลื่อนร่วมกัน และนำข้อสรุปที่ได้ไปผลักดันทั้งในเรื่อง พ.ร.บ.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการทำโครงการนำร่องที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งในปี 2565 เป็นปีที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) สอวช. ก็ได้เริ่มขับเคลื่อนเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับเอเปคด้วย

 

ดร. กาญจนา ได้กล่าวปิดท้ายถึงการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า สอวช. ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายได้พยายามเชื่อมโยงหน่วยงานด้านนโยบายในกระทรวงต่างๆ ให้มีการดำเนินงานในเป้าหมายเดียวกัน และทำงานร่วมกันในเชิงบูรณาการ เนื่องจากการขับเคลื่อนเรื่องนี้มีผลกระทบกับคนจำนวนมาก ทั้งการเปลี่ยนผ่านของภาคเอกชนในการปรับเปลี่ยนธุรกิจ รูปแบบการผลิต หรือประชาชนที่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การจะขับเคลื่อนในทุกภาคส่วนจึงต้องมีการทำงานร่วมมือร่วมใจกัน ซึ่ง สอวช. จะทำงานในส่วนนี้ต่อในเรื่องของนโยบาย รวมถึงการคิดเรื่องกลไก การทำงานในเชิงระบบ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับงานเสวนาในครั้งนี้ยังได้มีการพูดถึงประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่น่าสนใจ ทั้งผลการศึกษาและข้อเสนอแนะต่อการจัดการขยะ มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน, ทิศทางนโยบายและกฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน, ข้อเสนอ EPR เพื่อการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับประเทศไทย, ความเป็นไปได้ในการจัดระบบเก็บขยะแบบแยกประเภทและความร่วมมือกับภาคเอกชนภายใต้แนวคิด EPR, และบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) ต่อการส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและกลไก EPR


ผู้สนใจสามารถรับชมงานเสวนาย้อนหลังได้ที่ : https://fb.watch/7lUPuxE31N/