ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และรูปแบบธุรกิจใหม่อย่างรวดเร็ว ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมบางประเภทนั้นมีลักษณะแตกต่างจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สังคมคุ้นเคย อาทิ รถยนต์ไร้คนขับ การใช้โดรนสำหรับการขนส่งหรือการใช้งานทางการเกษตร การให้คำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ (Telemedicine) รวมถึงเทคโนโลยี Blockchain, Cryptocurrency, Artificial Intelligence ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการถูกนำมาพัฒนาเป็นธุรกิจที่จะช่วยอำนวยความสะดวกและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
อย่างไรก็ตาม การใช้งานเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใด ๆ นั้นจำเป็นต้องมีแนวทางในการกำกับดูแลหรือมาตรฐานรับรองคุณภาพความปลอดภัยมารองรับเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงเป็นการจำกัดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมหลายอย่างนั้นยังไม่มีแนวทางในการกำกับดูแลมารองรับ และประเทศไทยยังขาดกลไกในการรับมือกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความแปลกใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อความต้องการของผู้ประกอบการและการเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบจากการที่กฎหมายและการกำกับดูแลที่มีอยู่ยังไม่สามารถรองรับนวัตกรรมและการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ได้อย่างทันท่วงที เช่น ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นสำหรับเรียกใช้บริการรถโดยสารส่วนบุคคล ซึ่งเข้ามาแทนที่การเรียกใช้บริการแท็กซี่แบบดั้งเดิม ส่งผลให้ผู้ให้บริการธุรกิจรูปแบบใหม่และแบบดั้งเดิมขัดแย้งกันจากการแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด โดยกลุ่มผู้ประกอบการดั้งเดิมได้รับความเดือนร้อนในประเด็นความเหลื่อมล้ำในการดำเนินธุรกิจ ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจแบบใหม่ก็ประสบกับปัญหาหลายประการ เช่น ขาดแนวทางการกำกับดูแลที่ชัดเจน ขาดการยอมรับด้านความปลอดภัย ขาดแนวทางการจัดเก็บภาษี การคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น
สอวช. ได้จัดทำหลักการการส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่ หรือ Innovation Sandbox เสนอที่ประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งสอดคล้องตามพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้สามารถจัดตั้งแซนด์บ็อกซ์เพื่อส่งเสริมการวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่และพัฒนากำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง โดยให้ได้รับการส่งเสริมและสิทธิประโยชน์ หรือการยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติของกฎหมายหรือกฎข้อบังคับใดมาใช้บังคับ
ทั้งนี้ สอวช. อยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมประเด็นการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นกรณีศึกษานำร่องจัดตั้งโครงการ Innovation Sandbox โดยจะจัดลำดับความสำคัญของประเด็นที่เป็นข้อจำกัดเพื่อหาแนวทางปลดล๊อคทั้งในเชิงกฎหมาย ระเบียบ ขั้นตอนการดำเนินงาน รวมถึง กลไกการดำเนินงานของคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง (Innovation Sandbox) โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย อาทิ ผู้ประกอบการ นักวิจัย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป